ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
โครงสร้างของกฎหมาย | ||
พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มีทั้งหมด 11 มาตรา นอกจากบททั่วไปและบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้รักษาการตามกฎหมายแล้ว ได้มีบทบัญญัติสาระสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับเจ้าพนักงานตำรวจศาล ไว้ในมาตรา 4 ถึงมาตรา 10 ได้แก่ การจัดให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาล (มาตรา 4) หน้าที่และอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจศาล (มาตรา 5) คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม (มาตรา 6) การประสานความร่วมมือขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น (มาตรา 7) การฟ้องคดีต่อศาลกรณีเจ้าพนักงานตำรวจศาลทำละเมิด (มาตรา 8) กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนฯ (มาตรา 9) ความเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 10) | ||
ผู้รักษาการตามกฎหมาย | ||
พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มาตรา 11 บัญญัติให้ประธานศาลฎีการักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากโดยสภาพแล้วการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งต้องมีการร่างกฎหมายลำดับรอง เตรียมงบประมาณ และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ รวมทั้งวางระเบียบเพื่อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจศาล จึงกำหนดให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ | ||
เกี่ยวกับนิยามศัพท์ | ||
พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มาตรา 3 ได้บัญญัตินิยามศัพท์ไว้ 2 คำ คือ "ศาล" และ "เจ้าพนักงานตำรวจศาล" ดังนี้ "ศาล" หมายความว่า ศาลยุติธรรม "เจ้าพนักงานตำรวจศาล" หมายความว่าบุคคลที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ การที่กฎหมายใช้คำว่า "เจ้าพนักงานตำรวจศาล" นั้น เป็นการใช้ถ้อยคำที่พยายามสื่อความหมายถึง เจ้าหน้าที่ดูแลคุ้มครองศาล หรือ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นอาจจะสื่อความหมายต่อสังคมได้ยาก จึงต้องใช้คำเพื่อสะดวกในการสื่อสารต่อสังคม และเป็นที่เข้าใจได้โดยง่าย โดยใช้คำว่า ตำรวจศาล และมีคำที่เป็นทางการว่า "เจ้าพนักงานตำรวจศาล" ในการสื่อว่ามีความหมายแตกต่างจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าพนักงานตำรวจทั่วไป เพื่อลดความสับสนของประชาชน ซึ่งในอดีตก็เคยมีตำรวจรัฐสภาที่นำร่องมาก่อนและใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยตำรวจรัฐสภานั้นมีฐานะเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 7 (1) ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 16 และในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งสายงานตำรวจรัฐสภาใช้ชื่อตำแหน่งว่า ตำรวจรัฐสภา (เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา) เจ้าพนักงานตำรวจศาลมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Court Marshal ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับU.S. Marshal หรือ The United States Marhals senices (USMS) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทด้านการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา ตั้งขึ้นโดย The judicary Act of 1789 ในสมัยของประธานาธิบดี George Washingtion โดยมีการจัดตั้ง The Office of The Untted States Marshal ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1969 อยู่ในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม (United States Department of Justice) ในความรับผิดชอบของสำนักงานอัยการสหรัฐ (The United States Attorney Gereral) ซึ่งจะทำหน้าที่ด้านกำหนดแนวทางให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ Marshal กลาง (federal judicial districts) ซึ่ง US Marshal มีบทบาทด้านการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามคำสั่งของศาล และการดำเนินการ ในกรณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยบทบาทนั้นจะเน้นการติดตามจับกุมผู้หลบหนี คุ้มครองบุคลากรของศาล การจัดการทรัพย์สินในคดีอาญา การคุ้มครองพยาน ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกัน และหน้าที่และอำนาจที่คล้ายคลึงกันกับเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือ Court Marshal ในบางส่วน โดยเฉพาะในด้านการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามคำสั่งของศาล และการคุ้มครองบุคลากรของศาล
ก่อนการตราพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 ได้มีเหตุการณ์เกี่ยวกับการก่อเหตุร้ายหรือภัยคุกคามในเขตศาล อันเกิดจากตัวบุคคลที่เป็นอาชญากร หรือเป็นกลุ่มหรือองค์กรอาชญากรรม โดยมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่นกรณีที่จำเลยหรือผู้ต้องหาหลบหนีขณะมาศาล จนไปถึงอาชญากรรมที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่นเมื่อปี พ.ศ. 2521 เกิดเหตุการณ์จี้จับตัวผู้พิพากษาในบัลลังก์เป็นตัวประกันเพื่อต่อรองกับการหลบหนี ซึ่งเป็นกรณีการก่อเหตุร้ายที่ศาลจังหวัดสงขลา จำเลยจี้จับตัวผู้พิพากษาหญิงจากบัลลังก์ศาลใช้เป็นตัวประกันหลบหนีเข้าป่าลึก แต่ก็มีการติตตามจากฝ่ายทางการจึงสามารถช่วยเหลือมาได้ และเมื่อปี พ.ศ. 2529 เกิดเหตุการณ์ที่ศาลอาญาอาคาร 2 จำเลยในคดีปล้นเงินเดือนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้รับอาวุธปืนจากญาติที่มาฟังการพิพากษาโดยจำเลยใช้กระดาษปิดบังอำพรางไว้ แล้วเดินไปใกล้ผู้พิพากษาหญิงที่บัลลังก์อ้างว่าจะขอยื่นคำร้อง เมื่อได้จังหวะก็ใช้ปืนจี้ผู้พิพากษาบนบัลลังก์ต่อรองเพื่อหลบหนี มีการเจรจาต่อรองกันเป็นเวลาหลายชั่วโมงและในขณะที่มีการถอดตรวน (เครื่องพันธนาการ) ตามข้อเรียกร้องของจำเลยเพื่อหลบหนี ได้มีการแย่งชิงตัวประกันซึ่งเป็นผู้พิพากษาหญิงได้อย่างปลอดภัยโดยไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ต่อมามีเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เมื่อปี พ.ศ. 2532 การก่อเหตุร้ายวางระเบิดที่หน้าศาลจังหวัดนครราชสีมา เพื่อหวังฆ่าคู่อริปมเหตุธุรกิจค้าไม้ที่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนับร้อยล้านบาทซึ่งได้มาฟังการพิจารณาคดีที่ศาล จนเกิดเหตุระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิดที่มีอานุภาพร้ายแรง (ระเบิดเคลย์มอร์) และเมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้มีคนร้ายขับรถกระบะขว้างระเบิดเข้าบริเวณลานจอดรถศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ก่อนถล่มด้วยอาวุธปืนอีกกว่า 10 นัด หน่วย EOD เข้าตรวจสอบพบเป็นระเบิด RGD5 รุ่นเดียวกับที่ใช้ก่อเหตุช่วงชุมนุมทางการเมืองบ่อยครั้ง เบื้องต้นควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 2 ราย และต่อมาได้มีการจับกุมดำเนินคดีผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอีก 12 คน เพื่อดำเนินคดีต่อไป อีกทั้งในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อตัวผู้พิพากษาโดยตรง ในปี พ.ศ. 2545 ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานีถูกคนร้ายขับรถจักรยานยนต์ 2 คันตามประกบยิงเสียชีวิตกลางสี่แยกไฟแดงในช่วงเช้าขณะที่กำลังขับรถส่งบุตรที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รวมไปถึงเหตุที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการพิจารณาคดี เมื่อปี พ.ศ. 2559 คู่ความในคดีเกิดความเครียดหลังทราบผลการพิจารณาคดี ก่อเหตุปีนข้ามช่องหน้าต่างบริเวณทางเดินหน้าห้องพิจารณา และกระโดดลงมาจาก ชั้น 8 ศาลอาญา ถนนรัชดาร่างกระแทกรถยนต์ตรงทางเดินเสียชีวิต และเมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่ศาลจังหวัดจันทบุรี ช่วงระหว่างก่อนการขึ้นพิจารณาคดีได้เกิดเหตุคู่ความในคดีมีปากเสียงและก่อเหตุชักอาวุธปืนยิงใส่คู่ความอีกฝ่ายในห้องพิจารณาคดี ซึ่งมีการยิงต่อสู้กันจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมจำนวน 3 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 2 คน ในปมเหตุการแย่งที่ดินมรดก จำนวน 3,800 ไร่ มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย จึงมีการพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาในการจัดให้มีหน่วยรักษาความปลอดภัยของศาล และมีเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของบุคคล สถานที่ และรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล
|
||
การแบ่งส่วนราชการภายใน | ||
ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายใน และกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานในสำนักงานศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 11) | ||
สำนักงานศาลยุติธรรมมีการเพิ่มเติมการแบ่งงานภายใน และกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานในสำนักงานศาลยุติธรรมโดยจัดให้มีส่วนหรือกลุ่มงานเจ้าพนักงานตำรวจศาล และกำหนดให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ได้แก่ (ก) การรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยบุคคลและทรัพย์สินในบริเวณศาล (ข) การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในบริเวณศาล (ค) การรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พนักงานและลูกจ้างของศาลและสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ (ง) ปฏิบัติตามคำสั่งศาลกรณีจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยศาลแล้วหนีหรือจะหลบหนี (จ) ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดการตามหมายจับ หรือเป็นผู้สนับสนุน (ฉ) การปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจศาลตามพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. ๒๕๖๒ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ช) ดำเนินการเกี่ยวกับงานแผนงบประมาณและรายงานผลของส่วนงาน (ช) ปฏิบัติหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย |
โครงการฝึกอบรมการระงับเหตุบุคคลคลุ้มคลั่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567